บีม ดลยวรรณ UX/UI Designer แห่ง Salvator Tech ผู้สรรค์สร้างความสุขของผู้ใช้งานนับพัน
ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา หลายคนคงเคยได้ยินชื่อตำแหน่งงาน UX/UI Designer เป็นตำแหน่งที่ทำหน้าที่ออกแบบประสบการณ์ของผู้ใช้งานผลิตภัณฑ์ต่างๆ
UI = การออกแบบภาพลักษณ์เพื่อให้เกิดความสวยงาม
UX = การออกแบบประสบการณ์การใช้งานที่ง่ายดาย และสะดวกสบาย ต่อผู้ใช้งานมากที่สุด
การเข้ามาของเทคโนโลยีที่ก้าวกระโดด ทำให้เรามักเห็นสายงาน UX/UI Designer ทำงานร่วมกับแอปพลิเคชัน เว็บไซต์ และหุ่นยนต์ AI เป็นต้น และกลายเป็นสายงานแห่งโลกอนาคตที่มีความจำเป็นต่อทุกธุรกิจด้านเทคโนโลยีที่ผู้ประกอบการจะไม่สามารถมองข้ามได้อีกต่อไป
วันนี้ Salvator Tech จะขอพาทุกท่านมาล้วงลึกถึงสายงาน UX/UI Designer ผ่านประสบการณ์ตรงของ บีม ดลยวรรณ คงชาตรี สุดยอด Senior UX/UI Designer แห่ง Salvator Tech บริษัทผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ และเป็น Exclusive Partner เจ้าแรก และเจ้าเดียวในไทยผู้มีสิทธิ์จะจำหน่ายหุ่นยนต์บริการอัจฉริยะระดับโลกอย่าง temi และ Yape Last-Mile delivery
เมื่อความรักในการวาดภาพและศิลปะ นำพาเธอไปรู้จัก UX/UI ครั้งแรกที่ประเทศอังกฤษ
บีม ดลยวรรณ เติบโตมาในครอบครัวที่พร้อมให้การสนับสนุนเธอในทุกด้านที่เธอรัก โดยเฉพาะด้านศิลปะ และจุดประกายให้เธอได้เข้าเรียนที่ มหาวิทยาลัยศิลปากร คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เอกการโฆษณา ในรั้วมหาลัยทำให้เธอได้ค้นพบว่า เธอกำลังเดินบนเส้นทางที่ฝันอย่างแท้จริง
ในช่วงการเรียนปี 4 บีมได้เข้าร่วมแข่งขัน YR หรือ Young Spark เพื่อสมัครเข้าไปเป็นนักศึกษาฝึกงานของบริษัทเอเจนซี่โฆษณาชั้นนำของเมืองไทย จากโจทย์ ที่ให้ผู้สมัครแนะนำตัวเป็นรูปแบบวิดีโอ ซึ่งบีมทำออกมาได้เป็นอย่างดีจนรับเลือกให้เป็นหนึ่งในสิบคนที่จะได้เข้าร่วมโครงการ จากผู้สมัครกว่าหลาย ร้อยคน แม้ว่าบีมจะเป็นเพียงเด็กฝึกงานแต่ก็สามารถขายงานผ่าน และได้รับคำชมจากลูกค้ามากมาย ทำให้บีมถูกเลื่อนขั้นให้มีสถานะไม่ต่างกับ พนักงานของบริษัทคนหนึ่ง
หลังจากทำงานได้ 2-3 ปี บีมได้ตระหนักว่าความรู้ และประสบการณ์ในประเทศไทยไม่เพียงพออีกต่อไป เธอจึงตัดสินใจไปเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษ ณ Lancaster University และที่นั่นเองที่ทำให้เธอได้รู้จักกับคำว่า UX/UI Designer เป็นครั้งแรกในวันที่น้อยคนในประเทศไทยที่จะรู้จักคำว่า UX/UI Designer มาก่อน
การเรียนการสอนที่ประเทศอังกฤษสอนให้เธอคิดวิเคราะห์ และเข้าใจผู้ใช้งาน ควบคู่ไปกับการใช้การออกแบบดีไซน์ และความรู้เชิงศิลปะเป็นองค์ประกอบ ทำให้บีมได้เริ่มออกแบบแอปพลิเคชัน food wast สแกนคิวอาร์โค้ดบนฉลากอาหารในตู้เย็นสำหรับนักศึกษาในหอพัก เพื่อให้โทรศัพท์มือถือช่วยแจ้งเตือน อาหารที่กำลังจะหมดอายุ แนะนำเมนูสำหรับอาหารเที่ยงเหลืออยู่ รวมถึงแนะนำเมนูอาหารในตู้เย็นของเพื่อนในหอพักเพื่อที่จะนำมาประกอบอาหารร่วมกัน อีกด้วย ซึ่งแอปพลิเคชันของเธอได้รับคำชมอย่างมากจากอาจารย์ผู้สอน และเพื่อนเพื่อนในชั้นเรียน
หลังจากนั้นบีมได้รับโอกาสไปฝึกงานที่ Bowater Company ประเทศจีน ซึ่งเป็นบริษัทด้านเทคโนโลยีโฮโลแกรม และได้เป็นส่วนหนึ่งของโปรเจกต์การใช้ แอปพลิเคชันในการสแกนสินค้าเพื่อตรวจสอบว่าเป็นของแท้หรือไม่? เนื่องจากในประเทศจีนเกิดปัญหาสินค้าเลียนแบบจำนวนมาก แอปพลิเคชันตัวนี้ เป็นประโยชน์อย่างมากในการสแกนตรวจสอบวัคซีน
จากประวัติด้านการศึกษาที่โดดเด่น รวมถึงผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ทำให้เธอได้รับโอกาส ทำงานกับบริษัทด้านโฆษณาชื่อดังอย่างThe Leo Burnett Group Thailand ที่ซึ่งเปรียบเสมือนโรงเรียนฝึกฝนแนวคิดด้านการทำงานอย่างมืออาชีพ และทำให้เธอก้าวขึ้นไปเป็น Art Director ที่ไม่เพียงสามารถ ออกแบบชิ้นงานมาได้อย่างสวยงามไร้ที่ติ แต่ยังเข้าใจความต้องการของลูกค้าได้อย่างลึกซึ้ง
แม้ว่าเส้นทางการทำงานของเธอเป็นไปได้ความราบรื่นและประสบความสำเร็จ แต่หัวใจในส่วนลึกของเธอยังรู้สึกขาดบางอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเส้นทาง UX/UI Designer ที่เธอได้มีโอกาสสัมผัสเมื่อตอนที่เรียนอยู่ที่ประเทศอังกฤษ นอกจากนี้เพื่อนชาวต่างชาติของเธอที่เคยเรียนมาด้วยกันล้วนทำงาน บนเส้นทางนี้ แต่ในประเทศไทยสายงาน UX/UI Designer ยังคงไม่แพร่หลายนัก
แต่บีมเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าสายงาน UX/UI Designer จะเป็นที่ต้องการอย่างล้นหลามในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริษัทด้านเทคโนโลยี บีมจึงเริ่มต้น ใหม่อีกครั้งที่จะเข้าสู่สายงาน UX/UI Designer จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้เธอได้พบกับ Salvator Tech บริษัทด้านเทคโนโลยี AI ที่มีความเชื่อว่า การศึกษาเรียนรู้ ย่อมทำให้ทุกอย่างเป็นไปได้ บีมได้รับโอกาสในการทำงานที่นี่ในตำแหน่ง Senior UX/UI Designer
ความประทับใจในการทำงานที่ Salvator Tech
บีม ดลยวรรณเล่าว่า Salvator Tech เป็นบริษัทอินเตอร์เนชันแนลที่มีคนหลากหลายเชื้อชาติ และหลากหลายสายงาน ทุกคนล้วนมีพื้นฐานที่ต่างกัน แต่สิ่งที่เหมือนกันคือการช่วยเหลือซึ่งกัน และกันเป็นอย่างดี ทุกครั้งที่เกิดปัญหาเธอไม่เคยรู้สึกว่าอยู่คนเดียว เธอจะมีเพื่อนร่วมงานมากมายคอยอยู่ เคียงข้างและแก้ปัญหาไปด้วยกัน นอกจากนี้บอสของเรา Raj Kumar Gupta ยังให้ความสำคัญกับการศึกษาเรียนรู้ และมีงบประมาณสำหรับการลงคอร์ส เรียนออนไลน์ที่จำเป็น ทำให้การศึกษาไร้พรมแดนกลายเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงที่ Salvator Tech
โปรเจกต์ที่บีม ดลยวรรณประทับใจที่สุดต่อการทำงานที่ Salvator Tech
เว็บไซต์ Salvator Tech
บีม ดลยวรรณ เริ่มจากจากเว็บไซต์ที่ยังมีเพียงหัวข้อ และเนื้อหาที่จำเป็น จนกลายเป็นเว็บไซต์ด้านหุ่นยนต์ที่ดีที่สุดในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ AI วัดผลได้จากการนำเว็บไซต์ไปเทสกับลูกค้า และได้รับฟีดแบ็คที่น่าประทับใจ ทั้งยังมีผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์มากขึ้นเป็นสองเท่า
แอปพลิเคชัน Chitchat
Chitchat เป็นแอปพลิเคชันตัวแรกที่ได้ออกแบบบนหุ่นยนต์ AI ระดับโลก มาเพื่อตอบโจทย์สังคมผู้สูงอายุ โดยใช้งานร่วมกับหุ่นยนต์ temi หุ่นยนต์บริการระบบ AI อัจฉริยะ เพื่อตอบโจทย์การมาถึงของสังคมผู้สูงอายุ และช่วยแก้ปัญหาใหญ่อย่าง “ความเหงา” ซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะซึม เศร้าในอนาคต ซึ่งทำให้บีมรู้สึกประทับใจมากที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความเป็นอยู่ที่ดีทั้งในแง่ของกาย และใจให้แก่ผู้ใช้งาน
สิ่งที่ทำให้บีม ดลยวรรณ แตกต่างกับ UX/UI Designer อื่นๆ
เนื่องจากสายงาน UX/UI Designer เป็นสายอาชีพใหม่ที่เพิ่งเข้ามาในประเทศไทยทำให้ยังไม่มีการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย และคนที่ทำงานในสายนี้ ล้วนมาจากสายงานอื่น เช่น สายงานด้านเทคโนโลยี อีกทั้งโดยทั่วไปตำแหน่ง UX และ UI ล้วนแยกออกจากกัน ทำให้คนที่ทำงานเป็น UX หลายคนไม่สามารถ ออกแบบกราฟิกได้ แต่สำหรับบีม ดลยวรรณ เธอสามารถเป็นได้ UX/UI Designer ได้ในคนเดียว การทำงานที่สามารถมองเห็นภาพรวมทั้งหมด จะช่วยให้งานลื่นไหลรวดเร็ว และเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้อย่างง่ายดาย ทั้งยังช่วยลดต้นทุนให้กับบริษัทได้เป็นอย่างดี
ความท้าทายของการทำงานที่ Salvator Tech
เป็นครั้งแรกที่บีมต้องทำงานร่วมกับทีม Developer ซึ่งเป็นสายงานด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ที่เธอไม่เคยรู้จักมาก่อน จึงมีหลายอย่างที่ต้องทำความเข้าใจ ร่วมกัน และเป็นหน้าที่ของเธอที่จะหาจุดกึ่งกลางระหว่างการทำงานที่เหมาะสม ซึ่งเธอได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากทีม Developer ของ Salvator Tech ซึ่งมองเป้าหมายเดียวกันคือการทำงานให้ออกมาดีที่สุด
ปัญหาที่ยากที่สุดในงาน UX / UI คืออะไร และผ่านมาได้ยังไง
บีม ดลยวรรณเล่าว่า เธอเป็นคนไม่ค่อยชำนาญด้านการประสานงาน ทำให้ขั้นตอนการรีเสิร์ชเป็นเรื่องที่ยากที่สุดสำหรับเธอ เพราะในระหว่างการสร้าง แอปพลิเคชันจำเป็นต้องมีการออกไปเซอร์เวย์จากผู้ใช้งานจริง มีความจำเป็นที่จะต้องไปคุยกับผู้คนมากมาย ทั้งยังต้องคิดรูปแบบคำถามที่จะได้ข้อมูล เยอะที่สุด และใช้เวลาน้อยที่สุด เมื่อได้ข้อมูลมาแล้วยังต้องเอาไปปรับเพื่อให้เกิดการใช้งานที่ดีที่สุด และง่ายที่สุด
แนวคิดสำคัญที่ทำให้บีม ดลยวรรณผ่านปัญหาต่างๆ มาได้เสมอ
บีม ดลยวรรณ มีความเชื่อว่าวิธีคิดคือคำตอบของทุกสิ่ง เธอจึงเริ่มจากการปรับแนวคิดของตัวเองให้ลองมองการรีเสิร์ชเป็นความสนุก ลองฝึกวิธีพูด แนวคิดนี้ได้เปิดประตูอีกบานให้กับเธอ และทำให้เธอรู้ว่าเธอสามารถทำงานที่ไม่ถนัดนี้ได้เป็นอย่างดี นับเป็นการปลดล็อกอีกขั้น และเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ทำให้ เธอรู้สึกภูมิใจเป็นอย่างมาก
เป้าหมายในอนาคตของ บีม ดลยวรรณ กับสายงาน UX/UI Designer
บีม ดลยวรรณเล่าให้พวกเราฟังว่า เป้าหมายของเธออาจจะไม่ได้ดูยิ่งใหญ่ หรือไม่ได้อยากกลายเป็นที่สุดของการเป็นสายงาน UX/UI Designer เธอเพียงแค่อยากเห็นแอปพลิเคชันหรือผลงานที่เธอได้ทำถูกใช้งานจริง และได้เป็นส่วนหนึ่งในการทำให้ชีวิตของผู้ใช้งานง่ายขึ้น หรือเพียงแค่ได้เห็นรอยยิ้ม และประโยชน์จากการใช้งานที่เกิดขึ้น เท่านั้นก็เพียงพอแล้ว